งานศึกษาและพัฒนาศูนย์ฯ ภูพาน
Login Form
Home
สามดำมหัศจรรย์แห่ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงกำหนดให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” และเป็น “ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ” เพื่อที่หน้าที่คอยให้บริการด้านองค์ความรู้ การฝึกอบรม เป็นสถานที่ให้ดูงานและสามารถให้บริการสนับสนุนปัจจัยให้กับเกษตรกรได้นำไปเริ่มต้นอาชีพได้ในสถานที่เดียวกัน
การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ความสนใจเข้าศึกษาดูงานและขอรับพันธุ์สัตว์เพื่อนำไปเลี้ยงประกอบอาชีพจำนวนมากตลอดทั้งปี ด้วยอาชีพการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพที่มีความสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของประชาชนและเกษตรกรมาตั้งแต่เกิด จึงทำให้ขบวนการส่งเสริมเพื่อสร้างอาชีพด้านการเลี้ยงปศุสัตว์สู่เกษตรกรอยู่ในความสนใจและเป็นที่คุ้นเคยของเกษตรกรเป็นอย่างดี
เพื่อให้เกษตรกรที่เข้ามาศึกษาดูงานภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดความกระตือรือร้นที่อยากจะเข้ามาดูงานและอยากนำพันธุ์สัตว์จากโครงการพระราชดำริออกไปเลี้ยงด้วยความสมัครใจ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้เริ่มการพัฒนาพันธุ์สัตว์ชนิดใหม่ขึ้น 3 ชนิด ได้แก่ ไก่ดำภูพาน สุกรภูพาน และโคเนื้อภูพาน เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสกลนครและครอบคลุมถึงเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดด้วย โดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้ทรงพระราชทานหลักในการนำพันธุ์สัตว์ไปส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไว้ 5 ข้อ โดยสรุปดังนี้
- พันธุ์สัตว์ที่จะนำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรต้องเป็นพันธุ์สัตว์ที่เลี้ยงง่าย
- ต้องสามารถหาอาหารหรือใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น
- ต้องใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน
- สัตว์ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพการเลี้ยง สภาพภูมิสังคม การจัดการของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี และต้องทนทานต่อโรคระบาด
- เมื่อนำไปเลี้ยงแล้วต้องลงทุนไม่มากจนขาดทุน หากนำไปขายต้องมีกำไร
ซึ่งจากผลการศึกษาทดลองระบบการเลี้ยงอย่างครบวงจรและส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำไปเลี้ยงในช่วงที่ผ่านมา พบว่าพันธุ์สัตว์ทั้งสามชนิดสามารถปรับตัวเข้ากับการเลี้ยงและระบบการจัดการของเกษตรกรได้เป็นอย่างดีและสอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จนทำให้เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจนำพันธุ์สัตว์ทั้งสามชนิด ไปเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย จนในปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์ออกไปทั่วประเทศ และมีชื่อเรียกติดปากคนทั่วไปว่า “สามดำมหัศจรรย์แห่งศูนย์ภูพาน”
รอบรั้วภูพาน